
ถ้าอยากจัดการภาษีธุรกิจได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับ สิ่งที่ต้องรู้ ก็คือ การกำหนด ระยะเวลา นำส่งภาษีไว้ล่วงหน้า แต่ปัญหาของเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ก็คือ ไม่แน่ใจว่าภาษีแต่ละประเภทคืออะไร ต้องมีเอกสารอะไรบ้าง และต้องส่งภาษีภายในวันไหน ถ้าตอนนี้ใครกำลังประสบแบบนี้อยู่ ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเราจะมาสรุปให้ทุกคนในบทความนี้
ภาษีรายเดือน
ถ้าจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดแล้ว ในทุกๆ เดือนจะต้องนำส่งภาษีในกับกรมสรรพากรค่ะ และภาษีที่เราจำเป็นต้องส่งทุกๆ เดือนไม่ให้พลาด ได้แก่
- ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักผู้รับเงิน ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และนำภาษีที่หักไว้ นำส่งให้กับกรมสรรพากร
โดยปกติแล้วทุกๆ ธุรกิจน่าจะต้องมีการจ่ายเงินหรือมีค่าใช้จ่ายอยู่เป็นประจำ ซึ่งค่าใช้จ่ายบางประเภทสรรพากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ตามอัตราที่กำหนด และนำส่งภาษีส่วนที่หักไว้ให้สรรพากร เช่น ค่าเช่า ค่าบริการ ค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย แบ่งตามประเภทเงินได้ ได้แก่ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 และใบแนบ
- หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ที่ใส่ข้อมูลผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และรายละเอียดการหัก ณ ที่จ่ายให้เรียบร้อย
วันกำหนด ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
ยื่นแบบกระดาษ ไปยื่นและจ่ายภาษีที่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ยื่นแบบออนไลน์ จ่ายภาษีแบบออนไลน์หรือจ่ายที่ธนาคาร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ พูดง่ายๆ ก็คือ VAT 7% ที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการเรียกเก็บจากลูกค้านั่นเอง
แต่ไม่ใช่ทุกกิจการที่จะต้องนำส่งภาษีตัวนี้ เพราะกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่เรียกเก็บและนำส่งภาษีตัวนี้ก็คือ กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ถ้าใครจดห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแต่ไม่ได้เข้าเกณฑ์จด VAT ก็ไม่ต้องยื่นภาษีนี้
แต่สำหรับใครที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเตรียมเอกสารและมี วันกำหนด ยื่นแบบภาษี ดังนี้
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ภ.พ. 30
- รายงานภาษีซื้อ และใบกำกับภาษีซื้อ
- รายงานภาษีขาย และใบกำกับภาษีขาย
วันกำหนด ในการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ยื่นแบบกระดาษ ไปยื่นและจ่ายภาษีที่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ยื่นแบบออนไลน์ จ่ายภาษีแบบออนไลน์หรือจ่ายที่ธนาคาร ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
ภาษีประจำปี
สำหรับภาษีที่ต้องเสียเป็นประจำทุกปีนั้น มีหลายประเภทด้วยกัน ในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่เก็บจากเงินได้ของธุรกิจ เช่นว่า บริษัทของผู้ประกอบการ เปิดมาแล้วมีกำไรจากการประกอบกิจการ ก็จะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าขาดทุน ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีนี้ แต่ก็ยังมีหน้าที่จะต้องยื่นแบบภาษีนี้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้แบ่งช่วงเวลาการยื่นเป็น 2 ช่วงในแต่ละปี ดังนี้
1.1 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ภงด 51
ภาษีเงินได้ครึ่งปี เป็นการประมาณการผลประกอบการประจำปี เพื่อยื่นภาษีในส่วนของ 6 เดือนแรกของปีให้สรรพากร
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
1.1.1 แบบ ภ.ง.ด.51
1.1.2 ไฟล์ประมาณการภาษีครึ่งปี
วันกำหนด ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ครึ่งปี ภงด 51
กรณีที่มีรอบบัญชีปกติ 1 มค – 31 ธค.
ยื่นแบบกระดาษ ไปยื่นและจ่ายภาษีที่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 สิงหาคม
ยื่นแบบออนไลน์ จ่ายภาษีแบบออนไลน์หรือจ่ายที่ธนาคาร ภายในวันที่ 8 กันยายน
1.2 ภาษีเงินได้ประจำปี ภงด50
ภาษีเงินได้ประจำปี เป็นการคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา และนำส่งภาษีสำหรับทั้งปีให้กับกรมสรรพากร ซึ่งกำไรสุทธิที่ใช้ในการคำนวณภาษีต้องมาจากงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองแล้วประจำปีนั้นๆ ด้วย
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
1.2.1 แบบ ภ.ง.ด.50
1.2.2 ไฟล์คำนวณภาษีประจำปี
วันกำหนด ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี ภงด50
กรณีที่มีรอบบัญชีปกติ 1 มค – 31 ธค.
ยื่นแบบกระดาษ ไปยื่นและจ่ายภาษีที่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป
ยื่นแบบออนไลน์ จ่ายภาษีแบบออนไลน์หรือจ่ายที่ธนาคาร ภายในวันที่ 7 มิถุนายน ของปีถัดไป
2. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีรายปีที่เก็บและคิดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่เราครอบครอง โดยมีองค์กรท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. เป็นผู้จัดเก็บ
ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
2.1 เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (ดูตามโฉนด ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน)
2.2 ผู้ครอบครอง/ทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจทุกคนจะต้องจ่ายชำระ แต่เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นของตัวเอง ส่วนใครที่เช่าพื้นที่ทำธุรกิจอาจจะต้องย้อนกลับไปดูสัญญาเช่าว่าเราต้องรับภาระส่วนนี้แทนตามสัญญาหรือไม่
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
เอกสารประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกจ้างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วันกำหนด ในการยื่นแบบภาษี
องค์กรส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประเมินภาษี นำส่งให้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี และชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ
3. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจาก ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้า หรือประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้หรือโฆษณา ที่จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต เทศบาล อบต. เป็นผู้จัดเก็บ
ดังนั้น บางธุรกิจที่ไม่ได้มีป้ายชื่อหรือป้ายโฆษณาเพื่อการค้าจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีป้าย ส่วนธุรกิจที่มีป้ายเพื่อการค้าและโฆษณาที่ได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว จะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกๆ ปี
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
แบบ ภ.ป.1
วันกำหนด ในการยื่นแบบภาษีป้าย
ยื่นแบบและเสียภาษีภายใน 31 มีนาคม ของทุกปี